ความหมาย

หมายถึงการบาดเจ็บของสมองอันเป็นผลมาจากแรงกระทำจากภายนอก ทำให้เกิดอันตรายต่อกะโหลกศีรษะและส่งผลกระทบกระเทือนต่อสมอง อาจเกิดอาการช้ำ หรือฉีกขาด ซึ่งทำให้การทำงานของระบบประสาทบกพร่องหรือผิดปกติไป อาจเป็นแบบชั่วคราว หรือถาวร พบบ่อยเกิดจากอุบัติเหตุรถล้มหัวกระแทกพื้น การทะเลาะวิวาทถูกของแข็งกระแทกที่ศีรษะ

เวลาศีรษะกระแทก หรือได้รับบาดเจ็บจากแรงกระทำภายนอกนั้น ถ้ารุนแรงพอมันก็จะกระเทือนไปถึงสมองด้วย ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ (ศีรษะกระแทกไม่จำเป็นต้องสมองบาดเจ็บทุกครั้งไปนะครับ) ซึ่งการบาดเจ็บนี้ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ทั้งมนระยะสั้นและระยะยาวนะครับ

การที่สมองได้รับบาดเจ็บนั้น นอกจากจะเป็นจากการที่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ (เช่นจากกระแทก) แล้ว ยังเกิดจากแรงที่กระทำต่อสมองเวลาเกิดความเร่งหรือความหน่วงได้ (นึกถึงเวลานั่งรถน่ะครับ ถ้ารถเร่งเร็วขึ้น เราจะเหมือนถอยหลัง ถ้ารถเบรกกะทันหันเราก็คะมำ สมองก็เหมือนกันครับ มันก็เคลื่อนและกระแทกในกะโหลกได้ครับ ถ้าเร่งหรือเบรครุนแรงเกินไป

ซึ่งโรคนี้มี 2 ลักษณะคือ Closed head injury (CHI) ซึ่งเป็นการบาดเจ็บที่ส่วนกะโหลกศีรษะยังคงดีอยู่ เลือดจะออกมาแล้วคั่งค้างข้างใน และ Open head injury (OHI) ซึ่งกะโหลกศีรษะแตกหักมีรอยทะลุ มีเลือดออกจากกะโหลกศีรษะ ก็เหมือนหัวแตกนั่นแหละครับ

อาการ

ลักษณะอาการ ใครจะเป็นมากน้อยแค่ไหน อาหารเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสมองที่เสียหายจากการถูกกระแทกเป็นสมองบริเวณไหน ทำหน้าที่เกี่ยวกับอะไรครับ เช่น ถ้าสมองด้านข้างบริเวณ temporal lobe ถูกกระแทก (temporal lobe ทำหน้าที่เกี่ยวกับ ควบคุมการได้ยิน ดมกลิ่น และเป็นบริเวณ Wernicke’s area ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจทางภาษา จากนั้นสมมติโดนไม้ของแข็งกระทบศีรษะด้านข้าง ไปทำให้บริเวณ Wernicke’s area เสียหาย ผลที่ตามมาคือจะไม่เข้าใจภาษา การรับรู้ทางภาษาเสียไป คนอื่นพูดอะไรมาจะฟังไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจว่าเค้าพูดอะไรกัน (เรียกอาการนี้ว่าเป็น sensory ahasia) ส่งผลให้พูดโต้ตอบกับคนอื่นไม่ได้ เป็นต้น

และที่สำคัญครับ คือโรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการทางกล้ามเนื้อคล้ายๆกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองคือ พอเริ่มเป็นปุ๊ป กล้ามเนื้อที่สมองที่เสียหายเป็นตัวควบคุมพังในระยะแรก กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง อ่อนปวกเปียก จับกล้ามเนื้อดูแล้วจะนิ่มๆ เป็นเหลวๆ หลังจากนั้น เมื่อสมองมีการฟื้นตัว กล้ามเนื้อจะเริ่มมีแรง แต่มีแรงเพิ่มขึ้นมากเกินไปจนกลายเป็นเกิดอาการเกร็งมากขึ้น(ลักษณะอาการเกิดขึ้นตามหลักการของการเป็น resion ที่Lower motor neuron(LMN) การรักษาระยะต่างๆนี้ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัดเข้าช่วย เพื่อให้อาการฟื้นตัวขึ้นเร็วๆครับ (อ่านข้อมูล UMN และ LMN ได้ที่ http://oral-maxillofacial.blogspot.com/2012/09/upper-motor-neuron-lesion-lower-motor.html)

ลักษณะความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • Decorticate rigidity คือการที่ส่วนของแขนทั้งสองข้างมีอาการเกร็งอยู่ในท่างอ หุบเข้า และบิดหมุนเข้าด้านใน ส่วนของขาเหยียดเกร็ง หุบเข้า และบิดหมุนเข้าด้านใน
  • Decerebrate rigidity คือ อาการที่ส่วนแขนและขาอยู่ในท่าเหยียดหุบเข้า และบิดหมุนเข้าด้านใน ข้อมือและนิ้วมืองอ เท้าเหยียดลง ลำตัวแอ่น
  • Abnormal muscle tone และ Spasticity อาจมีอาการเกร็งทั้งแบบรุนแรง (Decorticate และ Decerebrate rigidity) และเกร็งแค่แบบเบาเป็น Hypertonicity หรือในระยะแรกของการบาดเจ็บอาจมี Hypertonicity หรือ Flaccidity
  • Primitive reflexs
  • – กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle Weakness)
  • – ความอดทนของกล้ามเนื้อลดลง (Decreased Endurance)
  • Ataxia เป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหว คือจะมีอาการสั่นอยู่เป็นระยะขณะเคลื่อนไหวร่างกาย
  • Postural Deficits เป็นการสูญเสียการควบคุมการทรงตัว และท่าทางของร่างกาย
  • – การจำกัดช่วงการเคลื่อนไหวของข้อ เคลื่อนไหวได้ไม่สุดช่วงการเคลื่อนไหว
  • – การสูญเสียการรับความรู้สึก (Loss of Sensation) เช่นที่แขน ที่ขา
  • – ความบกพร่องด้านสติปัญญา (Cognitive function Deficits) เช่น ความจำ สมาธิ การคำนวณ เป็นต้น
  • – ความผิดปกติด้านการสื่อสาร (Communication Disorder)

 

การฟื้นตัวของโรค

การฟื้นตัวจากโรคขึ้นกับลักษณะและระดับความรุนแรงของการรุนแรงของการบาดเจ็บบริเวณสมอง เช่น ผู้ป่วยที่มีค่า The Glasgow Coma Scale (GCS) (ซึ่งใช้วัดระดับของความรู้สึกตัวหลังเกิดโรค) น้อย และคงอยู่เป็นเวลานาน มักมีอัตราการตายสูงและการฟื้นตัวไม่ดี โดยส่วนใหญ่การฟื้นตัวจะเกิดได้มากที่สุดในช่วง 1 ปีแรกหลังการบาดเจ็บ และอาการจะค่อนข้างคงที่เมื่อเกิน 2 ปีขึ้นไป

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นจากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือทะเลาะวิวาท ถูกขวดเบียร์ฟาดมาโดนบริเวณศีรษะ เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันโรคสมองได้รับการกระทบกระเทือนนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดครับ คงจะเป็นเรื่องของการมีสติในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท ขับรถไม่ประมาท ปลอดภัยไว้ก่อน ระวังการเกิดอุบัติเหตุเท่าที่จำทำได้ให้มากที่สุดเป็นต้นครับ สุดท้ายแล้วผมคิดว่าการป้องกันสำคัญกว่าเป็นโรคแล้วรักษาครับ ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านใช้ชีวิตอยู่ในความไม่ประมาทครับ

 

ที่มาของข้อมูล

ขอบคุณข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆดังนี้ครับ

1. พิศักดิ์ ชินมัย และทศพร บรรยายมาก (2551). กิจกรรมบำบัดสำหรับผู้มีปัญหาทางระบบประสาท (พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 122-183). เชียงใหม่. ออเร้นท์กรุ๊ป เทคนิคดีไซด์
2. นักกิจกรรมบำบัดนิสากร คงศรี นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลศิริราช
3. สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
4. สำนักงานอนามัย กรุงเทพมหานคร
กองพัฒนาระบบสาธารณสุข
5. สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
6. http://www.chulalongkornhospital.go.th/unit/cmt/tbi/tbi/index.php?option=com_content&task=view&id=44&Itemid=60
7. http://oral-maxillofacial.blogspot.com/2012/09/upper-motor-neuron-lesion-lower-motor.html


Comments are closed.